ผู้เขียน หัวข้อ: สั่งปิดประกันภัย “ลิเบอร์ตี้-วิคเตอรี” เยียวยาไม่รอด 19 บริษัทพร้อมอุ้มลูกค้า  (อ่าน 1059 ครั้ง)

ออฟไลน์ IloveMT

  • medtech ป โท
  • *****
  • กระทู้: 289
    • อีเมล์



“คลัง” สั่งปิดบริษัทประกันภัย “ลิเบอร์ตี้-วิคเตอรี” พร้อมกันทีเดียว 2 ราย หลังขาดสภาพคล่องหนัก จนไม่สามารถแก้ไขฐานะการเงินได้ ส่งผลให้กองทุนติดลบ ค้างค่าสินไหมอื้อ และยังพบว่า ผู้บริหารกระทำการอันมิชอบ เลขาธิการ คปภ.แจงไม่กระทบธุรกิจรายอื่นและผู้เอาประกัน เพราะมีบริษัทประกันภัย 19 ราย พร้อมเข้าคิวรับช่วงกรมธรรม์เพื่อไปดูแล
      
       นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งที่ 709/2554 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2554 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด และคำสั่งที่ 708/2554 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2554 เรื่องเพิกถอนใบอนุญาตบริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด
      
       เลขาธิการ คปภ.ยังกล่าวชี้แจงส่าเหตุที่กระทรวงการคลังสั่งปิด บริษัท วิคเตอรีประกันภัย จำกัด โดยระบุว่า บริษัทมีการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นโดยฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของบริษัทให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิชอบ และทำธุรกรรมทางการเงินที่ตามปกติวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจไม่พึงกระทำ
      
       นอกจากนี้ ยังพบว่า บริษัทยังคงดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จัดสรรทรัพย์สินไม่เพียงพอกับหนี้สิน และภาระผูกพันต่อเจ้าหนี้ของบริษัท และผู้บริหารหรือผู้บริหารร่วมกับบุคคลอื่นกระทำการอันมิชอบ เป็นเหตุให้สินทรัพย์ของบริษัทสูญหายเป็นจำนวนมาก จึงมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย
      
       “กรณีวิคเตอรีประกันภัยนั้น บริษัทมีการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของบริษัทให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิชอบ และทำธุรกรรมทางการเงินที่ตามปกติวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจไม่พึงกระทำ จึงอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย จึงสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา”
      
       ทั้งนี้ คปภ.ได้ให้บริษัทแก้ไขฐานะการเงิน แต่ทางวิคเตอรี่ประกันภัยไม่สามารถดำเนินการได้ และยังคงดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จัดสรรทรัพย์สินไม่เพียงพอกับหนี้สินและภาระผูกพันต่อเจ้าหนี้ ซึ่งมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 31 มกราคม 2554 จำนวน 24.61 ล้านบาท
      
       นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้บริหารหรือผู้บริหารร่วมกับบุคคลอื่นกระทำการอันมิชอบ เป็นเหตุให้สินทรัพย์ของบริษัทสูญหายเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นผู้บริหารรับว่าจะนำสินทรัพย์มูลค่า 116.86 ล้านบาทคืนกลับมาเป็นของบริษัท โดยนำฝากประจำไว้กับสถาบันการเงิน ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 และเมื่อถึงกำหนดเวลาก็ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต
      
       ส่วน บริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด มีฐานะการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ขาดสภาพคล่องเป็นจำนวนมาก ทั้งไม่สามารถชำระหนี้สิน และค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนตามสัญญาประกันภัยได้ จึงมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
      
       “กรณีของลิเบอร์ตี้ประกันภัย พบว่า มีฐานะการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 จำนวน 65.78 ล้านบาท ซึ่ง คปภ.ได้ให้บริษัทแก้ไขฐานะการเงิน แต่บริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ และได้สั่งบริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา”
      
       ต่อมา ลิเบอร์ตี้ประกันภัย ได้ประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ทำให้ฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2553 มีเงินกองทุนครบถ้วนตามกฎหมาย แต่บริษัทยังคงขาดสภาพคล่องเป็นจำนวนมาก อีกทั้งไม่สามารถชำระหนี้สินและค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยได้ ซึ่ง คปภ.ได้ให้โอกาสบริษัทในการแก้ไขปัญหา แต่ไม่มีความคืบหน้า และกลับมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 232.05 ล้านบาท ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง หากให้ดำเนินกิจการต่อไป จึงมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไป
      
       “การเพิกถอนใบอนุญาตของลิเบอร์ตี้ประกันภัย และวิคเตอรีประกันภัย ในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทประกันวินาศภัยอื่นๆ และ คปภ.ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันภัย 19 บริษัท ให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยในกรณีกรมธรรม์ที่ยังมีระยะเวลาคุ้มครองเหลืออยู่ ให้ทำประกันภัยกับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือ โดยสามารถซื้อความคุ้มครอง 1 ปี แล้วบริษัทประกันภัยจะขยายระยะเวลาความคุ้มครองเพิ่มเติมให้เท่ากับระยะเวลาประกันภัยที่เหลืออยู่ตามกรมธรรม์ประกันภัยเดิม หรือบริษัทประกันภัยอาจให้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาคุ้มครองที่เหลืออยู่ให้”
      
       สำหรับรายชื่อบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ.ที่ www/oic.or.th หรือสอบถามได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186