ผู้เขียน หัวข้อ: กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุขทั่วประเทศให้ได้มาตรฐาน  (อ่าน 2356 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
 

  กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุขทั่วประเทศให้ได้มาตรฐาน เทียบระดับสากล เพื่อสนับสนุนให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยได้แม่นยำ รวดเร็ว และสอดคล้องกับสภาพปัญหาสุขภาพในพื้นที่ และเตรียมความพร้อมรองรับโรคระบาดจากเชื้ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ภัยพิบัติ โรคข้ามพรมแดนและสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
         วันนี้ (15 มีนาคม 2556) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางการพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุข เพื่อรองรับโรคระบาด ภัยพิบัติ และโรคข้ามพรมแดน” แก่ผู้บริหารและนักวิชาการจากกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ห้องปฏิบัติการระดับเขต จังหวัด ชุมชนทั่วประเทศ และผู้แทนห้องปฏิบัติการนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และสภาวิชาชีพต่างๆ เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุขของประเทศให้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากเชื้ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ภัยพิบัติ โรคข้ามพรมแดน และสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุขเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งอาจเกิดมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น การเปลี่ยนสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ไข้หวัดนก และโรคที่ป้องกันด้วยวัคซีนที่กลับมาระบาดซ้ำ เช่น โรคคอตีบ เป็นต้น ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าห้องปฏิบัติการด้านสาธารณสุขนั้นมีบทบาทสำคัญในการตรวจ เพื่อพิสูจน์ยืนยัน เชื้อหาสาเหตุ แก้ไขปัญหา ตลอดจนสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน ด้วยการบริการตรวจชันสูตรโรคแบบเร่งด่วนในระยะแรกๆ ของการระบาด
        นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า ประเทศไทย โดย กระทรวงสาธารณสุข มีแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับ คือ แผนพัฒนางานด้านกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (เป็นแผนที่ใช้งานในช่วงปี พ.ศ. 2551-2555 และต่ออายุถึงปี พ.ศ.2557)และแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ.2556-2559) ทั้ง 2 ฉบับได้กล่าวถึงกลยุทธ์ในการพัฒนาสมรรถนะห้องปฏิบัติการไว้ กระทรวงสาธารณสุขนำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาเป็นแนวทางจัดทำเป็น(ร่าง)คู่มือการพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุข เพื่อรองรับโรคระบาด ภัยพิบัติและโรคข้ามพรมแดนขึ้น โดยอ้างอิงตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกและปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย พัฒนาให้เป็นนโยบายระดับชาติด้านห้องปฏิบัติการสาธารณสุข (National Policy) และนำไปดำเนินการให้ครบถ้วนตามความจำเป็นภายในปี พ.ศ.2557 การมีนโยบายระดับชาติด้านการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ จะเป็นหลักประกันถึงความต่อเนื่องยั่งยืนในการพัฒนาประเทศในด้านการคุ้มครองสุขภาพประชาชนลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคระบาด ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากกับเศรษฐกิจ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่น ที่จะดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงและลดผลกระทบตามแนวทางสากลและแนวทางของกฎอนามัยระหว่างประเทศ สนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศด้านการใช้ภารกิจด้านสาธารณสุขเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าบริการและการลงทุน เพื่อเชื่อมโยงโอกาสจากอาเซียน
        นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพตรวจวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่-ไข้หวัดนก ด้วยวิธี PCR ตามมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก คือ ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ ตั้งอยู่ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาค 14 แห่ง เป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งสามารถรองรับตัวอย่างส่งตรวจจากทั่วประเทศ เพื่อการบรรลุเป้าหมายควบคุมป้องกันโรคดังกล่าว และจากสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ระบาดในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น กรณีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไข้หวัดนก และกรณีโรคคอตีบอุบัติซ้ำ ห้องปฏิบัติการมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา  โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้บริการตรวจชันสูตรภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติด้านสาธารณสุข สื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนการยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการ เพื่อการระบาดและการพบเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ อย่างเป็นทางการผ่านทางองค์การอนามัยโลก ตลอดจนร่วมกับห้องปฏิบัติการหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อถ่ายทอดความรู้และจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือในการเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการเตรียมความพร้อมรับมือ หากมีการระบาดซ้ำอีก ช่วยสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่ารัฐสามารถรองรับสถานการณ์ได้



ที่มา เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์